ความดันโลหิตสูง เป็นอาการหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายๆ โรค และ มักมีสาเหตุสำคัญมากจากพฤติกรรมการทานอาหารและการใช้ชีวิตของเรา
โรคความดันโลหิตสูง สามารถเกิดกับคนได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนเฉพาะกลุ่ม ความดันโลหิต คือ แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดงซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ (คล้ายแรงลมที่ดันผนังของยางรถ เมื่อเราสูบลมเข้า) สามารถวัดได้โดยการใช้เครื่องวัดความดัน (Sphygmomanometer) วัดที่แขน
ค่าความดันที่วัดได้ 2 ค่า คือ
- ความดันช่วงบน หรือ ความดันซิสโตลี (Systolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัวซึ่งอาจจะสูงตามอายุ และ ความดันช่วงบนของคนคนเดียวกันอาจมีค่าที่ต่างกันออกไปตามท่าเคลื่อนไหวของร่างกายการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และ ปริมาณของการออกกำลังกาย
- ความดันช่วงล่าง หรือ ความดันไดแอสโตลี (Diastolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว ในปัจจุบันได้มีการกำหนดค่าความดันโลหิตปกติ และ ระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิต
สามารถพบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ โดยพบได้สูงถึงประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และ จะพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ
สาเหตุ และ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ประมาณ 90-95% แพทย์จะตรวจไม่พบโรค หรือภาวะผิดปกติ หรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูง เรียกว่า “ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด” (Essential hypertension) ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนน้อยประมาณ 5-10% แพทย์อาจตรวจพบโรค หรือภาวะผิดปกติ หรือสิ่งที่เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูงเรียกว่า “ความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ” สาเหตุของความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุนั้นอาจเกิดได้จากหลายสภาวะ ได้แก่
- โรคไต เช่น โรคไตเรื้อรัง กรวยไตอักเสบเรื้อรัง หน่วยไตอักเสบโรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง อื่นๆ
- หลอดเลือดแดงไตตีบ (Renal artery stenosis)
- หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ (Coarctation of aorta)
- เนื้องอกบางชนิดของต่อมหมวกไต หรือต่อมใต้สมอง
- ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
- พันธุกรรมมีโอกาสจะสูงมากขึ้น เมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- โรคเบาหวาน เพราะก่อให้เกิดการอักเสบตีบแคบของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดของไต
- โรคไตเรื้อรัง เพราะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์ และ ฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิตดังที่กล่าวไป
- น้ำหนักตัวเกิน และ โรคอ้วน เพราะเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน และ โรคหลอดเลือดต่างๆ ตีบจากภาวะไขมันเกาะผนังหลอดเลือด
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- การขาดการออกกำลังกาย เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วน และ เบาหวาน
- การรับประทานอาหารเค็มอย่างต่อเนื่อง ตามเหตุผลที่กล่าวไป
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ส่งผลให้เกิดการอักเสบตีบตันของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจ และ หลอดเลือดไต
- การดื่มแอกอฮอล์ เพราะส่งผลให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ และ มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึงประมาณ 50% ของผู้ที่ติดสุราทั้งหมด
โรค และ อาการข้างเคียง
- โรคร้ายแรง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง
- โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน
- โรคที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง มีอาการปวดศีรษะ และ ดวงตามองเห็นภาพได้ไม่ชัด
ระยะเวลาของการรักษา
- ผู้ป่วยที่ความดันเลือดสูงมากอาจต้องรักษาไปตลอดชีวิต
- ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงปานกลาง อาจหยุดยาได้หลังจากรักษาไประยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 ปี ถึง 2 ปี แต่ยังต้องมาพบแพทย์เพื่อวัดความดันเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ และ เริ่มรักษาถ้าความดันเลือดกลับขึ้นสูงอีก
แตงโม ช่วยลดความดันได้
ความดันโลหิตนอกจากจะรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว การใช้ธรรมชาติบำบัดก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เริ่มด้วยการเลือกกินให้ครบ 5 หมู่ และ อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือผลไม้ ซึ่งผลไม้บางชนิดก็ช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน ผลไม้ชนิดนั้นที่ช่วย ลดความดันโลหิต ได้คือ แตงโม
แตงโม จัดเป็นพืชผลไม้ตระกูลเดียวกันกับ แคนตาลูป ฟักทอง และ แตงกวา เนื้อของแตงโมมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักทำให้มีคุณสมบัติเย็น และ มีวิตามิน แร่ธาตุอยู่ภายในมากมาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล เส้นใย โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบีรวม วิตามินซี กรดโฟลิก แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และ สังกะสี และ ที่สำคัญ แตงโมมีสาร ซิทรูไลน์ (Citrulline) สารนี้มีประโยชน์สามารถช่วยขยายหลอดเลือดแดงภายในร่างกายได้ สารชนิดนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และ ความดันโลหิต สามารถพบสารนี้ได้มากที่เปลือกของแตงโม ดังนั้นการกินแตงโมให้ได้ประโยชน์มากที่สุดควรทานเนื้อแตงโมกับเปลือกขาวๆ ด้วยเล็กน้อยจะดีมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ มหาวิทยาลัยเท็กซัสทางตะวันตกเฉียงใต้ บอกว่าในแตงโมมีโพแทสเซียมและเกลือแร่สูงซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาไต และ การทำงานของหัวใจได้ดี กรมวิชาการเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้ผู้ใหญ่ควรได้รับโพแทสเซียมประมาณ 4,044 มิลลิกรัม จากอาหาร และ เครื่องดื่มในแต่ละวัน
ประโยชน์สำคัญของแตงโมที่ควรรู้
- แตงโมเหมาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย เพราะเนื้อสีขาวตรงเปลือกแตงโมสามารถช่วยเพิ่มพลังขณะออกกำลังกายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถรับประทานได้ทั้งก่อน และ หลังออกกำลังกายเพราะหากรับประทานก่อนออกกำลังกายจะช่วยลดการปวดของกล้ามเนื้อ ส่วนรับประทานหลังออกกำลังกายจะช่วยลดอาการเจ็บปวด และ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้ดี
- ช่วยลดน้ำหนัก แตงโมนั้นจะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ช่วยให้อิ่มเร็วขึ้นช่วยระบายท้องและยังสามารถช่วยเผาผลาญ และ ย่อยอาหารได้ดีอีกด้วย
- ช่วยลดความดันเลือด แตงโมมีคุณสมบัติเป็นยาขับปัสสาวะ โดยเฉพาะเนื้อสีขาวบนเปลือกแตงโมสามารถช่วยกำจัดน้ำส่วนเกินในกระแสเลือด และ ช่วยให้ภาวะความดันเลือดสูงลดลงได้
- ช่วยป้องกันมะเร็ง แตงโมอุดมไปด้วยสารไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในผลไม้สีแดง มีงานวิจัยกล่าวว่าไลโคปีนมีส่วนช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งได้ถึง 34 %
อ้างอิงข้อมูล:mgronline,honestdocs