“งดอาหารเช้า” เสี่ยงสุขภาพพังจริงหรือ?
อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะทำให้ร่างกายแข็งแรง และยังทำให้ไม่อ้วนด้วย “ต้องกินอาหารเช้านะ ถ้าไม่กินเดี๋ยวหัวไม่แล่นคิดอะไรไม่ออก” “ไม่กินข้าวเช้า ไม่มีแรงทำงาน” “อดอาหารเช้าทำให้เรียนไม่เก่ง” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กจนโตแต่เคยสงสัยไหมว่า “มันจริงหรือ” เพราะการทานอาหารเช้าสำหรับหลายคนถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากหรือ แทบจะทำไม่ได้เลยก็ว่าได้ วันนี้เราได้หาคำตอบมาไขข้อสงสัยให้กับหลายๆคน ว่าถ้าไม่กินข้าวเช้าจะทำให้สุขภาพเสียไหม? ถ้าน้ำหนักลง แต่สุขภาพพัง จะคุ้มหรือเปล่า? เรามาลองหาคำตอบกันค่ะ
“ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการรณรงค์ทางการตลาดที่ก็อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ โดยผู้ผลิตซีเรียล เยเนอรัล ฟู้ดส์ (ซึ่งขณะนี้เรารู้จักในชื่อ คราฟต์ ฟู้ดส์) กล่าวว่า “รับประทานอาหารเช้าที่ดี – ทำงานได้ดีขึ้น” และโฆษณาทางวิทยุด้วยคำโปรยที่ว่า: “ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกล่าวว่าอาหารเช้านั้นเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน” และจึงเชื่อกันเช่นนั้นเป็นต้นมา”
Q: อาหารเช้า สำคัญจริงไหม?
- มีวิจัยทางการแพทย์เรื่องภาวะโภชนาการฉบับหนึ่ง ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1971 ถึงปี 2010 สำรวจประชากรชาวอเมริกันจำนวนกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งมีอายุระหว่าง 20-74 ปี และพบว่ามีประชากรมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า แต่พวกเขาก็ยังมีสุขภาพที่ดี
- ใน Wellness Clinic บางแห่ง จัดให้ผู้เข้าโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพบางราย งดอาหารเช้า เพราะพบว่าการให้ร่างกายได้พักผ่อน งดการเผาผลาญอาหารเป็นเวลา 14-16 ชั่วโมง จะช่วยปรับสมดุลของระบบฮอร์โมน ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบขับถ่ายของเสียให้กลับมาทำงานเป็นปกติดีอีกครั้ง
- ปัจจุบันเกี่ยวกับอาหารเช้าและการควบคุมน้ำหนักนั้นมีความขัดแย้งกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ BMJ ได้วิเคราะห์งานวิจัย 13 ฉบับเกี่ยวกับอาหาร และสรุปว่าการรับประทานอาหารเช้าอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีสำหรับการลดน้ำหนักในขณะที่การศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเช้ามื้อใหญ่ และอาหารเย็นมื้อเล็ก ช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากขึ้น และความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจก็ลดลง เพราะว่าการรับประทานอาหารที่มากแคลลอรี่ในช่วงเริ่มต้นวันใหม่นั้นสอดคล้องกับวงจรนาฬิกาชีวะส่งผลต่อระบบเผาผลาญ และลดความเสี่ยงของการที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการรับประทานแคลลอรี่ในมื้อเย็น
Trick : อาหารเช้าที่มีประโยชน์ – Msora-Kasago กล่าวว่าในการเลือกอาหารเช้านั้นให้มองหาอาหารที่มีโปรตีนซึ่งจะช่วยเพิ่มความอิ่ม และลดการรับประทานอาหารว่างตอนกลางวัน และว่าอาหารเช้าที่มีประโยชน์ควรมีเมล็ดธัญพืชไขมันเพื่อสุขภาพ ผลไม้ ผัก หรือเครื่องดื่มที่อุดมด้วยแคลเซียม
อยากสุขภาพดีทำได้ง่ายๆ
เลือกที่จะกินให้สมดุล รับประทานโดยไม่รีบเร่ง เลือกภาชนะที่เหมาะสมปริมาณพอเพียง ควรให้เวลาในการรับประทานมื้อเช้าอย่างเต็มที่ ไม่รีบเร่ง ไม่ทำกิจกรรมอื่นที่ดึงดูดความสนใจในขณะรับประทาน เปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารปรุงแต่งสูง ลดปริมาณอาหารที่เต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัว อย่าเติมน้ำตาลหรือเกลือปริมาณมากนะคะ
ถึงจะมีข้อมูลสนับสนุนออกมาเรื่อยๆ แล้วว่า “การอดอาหารเช้า” ไม่ได้ส่งผลเสียกับสุขภาพแต่อย่างใดหลายคนคงเริ่มกังวลใจกันแล้วว่าตกลงเราควรรับประทานอาหารเช้าหรือเปล่า คำตอบคือ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบุคคลค่ะ เพราะไม่ได้เกี่ยวกันเลยว่าการทานอาหารเช้าแล้วสุขภาพจะดี ไม่ทานอาหารเช้าแล้วสุขภาพจะแย่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น คือพฤติกรรมของคนต่างหาก อ้างอิงข้อมูล: thestandard.co,pobpad.com