โรคความดันโลหิตสูง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูงนั้น เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ใหญ่ เฉลี่ยแล้วตกประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งหมด และ มักพบบ่อยในกลุ่มของผู้ชายมากกว่ากลุ่มผู้หญิง ถือได้ว่าโรคความดันโลหิตเป็นโรคที่คุณควรใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากผลที่จะตามมานั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก
โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร?
โรคความดันโลหิตสูง หรือในภาษาอังกฤษมีชื่อว่า Hypertension เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยใความดันอยู่ในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา โดยความดันโลหิต จะประกอบไปด้วยสองค่า นั่นก็คือ ความดันช่วงหัวใจบีบ และ ความดันช่วงหัวใจคลาย ซึ่งถือเป็นความดันสูงสุด และ ต่ำสุดที่เกิดขึ้นในระบบหลอดเลือดแดงตามลำดับ โดยความดันในช่วงหัวใจบีบนั้น จะเกิดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายเกิดการบีบตัวที่มากที่สุด ความดันในช่วงหัวใจคลายจะเกิดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัวมากที่สุด ก่อนการบีบตัวในครั้งถัดไป
ลักษณะอาการของโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับโรคความดันโลหิตสูงนั้นถือได้ว่าเป็นโรคที่มักไม่มีอาการแสดงออกมา แต่มักจะมีอาการจากผลข้างเคียงจากการเป็นโรคหัวใจ และ จากการเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง หรือสำหรับบางคนก็เกิดจากอาการของโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง อย่างเช่น อาการของผู้ป่วยเบาหวาน หรือจากการเป็นโรคอ้วน และสำหรับบางคนก็เกิดจากอาการของโรคที่เป็นสาเหตุโดยตรง เช่น
โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ซึ่งโรคชนิดนี้จะแสดงอาการของการปวดศีรษะและสายตามองเห็นภาพไม่ชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงบางรายอาจมีอาการที่แสดงออกมาโดยตรง เช่น มีอาการมึนงง วิงเวียน และสับสน รวมทั้งมีอาการปวดศีรษะ สำหรับบางรายอาจมีอาการขั้นโคมาจนเสียชีวิตลง
สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน คือ
- เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งโอกาสที่คนในครอบครัวจะเป็นโรคชนิดนี้เป็นไปได้สูงมาก
- เกิดจากโรคอ้วนหรือร่างกายมีน้ำหนักที่เกินตัว เนื่องจากโรคชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน และ โรคหลอดเลือดต่างๆ
- เกิดภาวะตีบจากภาวะไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด เมื่อเกิดโรคชนิดนี้ขึ้นในร่างกาย ก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาได้ง่าย
- เกิดจากการเป็นโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากโรคชนิดนี้จะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์ และ ฮอร์โมนที่มีส่วนในการควบคุมความดันโลหิต
- เกิดจากการมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารพิษที่อยู่ในควันปริมาณมาก ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลต่อการทำให้เกิดการอักเสบ
- เกิดการตีบตันของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดไต อีกทั้งยังส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ
- เกิดจากการดื่มสุรา เพราะการดื่มสุราจะส่งผลทำให้หัวใจของคนเราเกิดภาวะที่เต้นเร็วกว่าปกติ และนั่นก็จะส่งผลต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงสูงถึงประมาณ 50% ของผู้ที่ติดสุรา
- เกิดจากการทานอาหารที่มีรสเค็มเป็นประจำ เพราะความเค็มที่ร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไป มีส่วนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
- เกิดจากการไม่หมั่นออกกำลังกาย เพราะการไม่ออกกำลังกายนั้นจะส่งผลต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งหากเผชิญกับโรคทั้งสองชนิดนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
- เกิดจากผลข้างเคียงของการทานยา เช่น การทานยาที่อยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์
วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับวิธีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้น ก็คือ การทานยาลดความดันโลหิตสูงตามที่แพทย์ได้สั่งจ่ายยาเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษา และ ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย สำหรับยาลดความดันโลหิตสูงนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด เช่น ยาสำหรับรับประทานและยาสำหรับฉีด ทั้งนี้ยาแต่ละชนิดจะถูกนำมาใช้ตามระดับความรุนแรงของอาการที่แสดงออกมา
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
สมาคมโรคหัวใจ และ หลอดเลือดของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการทดลองที่เรียกว่า DASH ซึ่งเป็นการทดลองเพื่อหาชนิดของอาหารเพื่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มีการค้นพบว่า การที่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ อาหารไขมันต่ำ รวมทั้งทานผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเน้นการทานอาหารจำพวกธัญพืช ปลา ถั่ว และ นมชนิดไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อแดง น้ำตาล และ เครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิดก็จะช่วยให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้
การใส่ใจในเรื่องของอาหารการกิน รวมทั้งการรู้จักป้องกันเพื่อไม่ให้ร่างกายต้องเผชิญกับโรคความดันโลหิตสูง จะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีขึ้น และไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่มีส่วนต่อการทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่น่ากลัวและมีอาการที่ส่งผลร้ายต่อชีวิตได้ เพราะโรคแทรกซ้อนที่พร้อมเข้ามาในช่วงที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเผชิญ เพราะฤทธิ์ร้ายของอาการจะทำให้ใช้ชีวิตที่ค่อนข้างลำบากและไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ สำหรับแนวทางการป้องกันโรคความดันสูงและลดไขมันในเลือดด้วยตัวเอง เราสามารถปรับที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตและเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ได้แก่
- บริโภคอาหารตามหลัก DASH diet คือ ลดการใช้น้ำมันทอดอาหาร ลดการเติมเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส ในอาหาร เนื่องจากมีโซเดียมสูง ทำให้ความดันสูงขึ้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป (ขั้นต่ำ 30นาทีต่อครั้ง)
- รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีโอเมกา 3 6 9 ในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งมีการวิจัยยืนยันว่าช่วยปรับสมดุลหลอดเลือด ลดไขมันตัวร้าย (LDL) เพิ่มไขมันดี (HDL) ได้จริง
- ปล่อยวาง หรือบริหารความเครียดในแต่ละวัน